วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

อีกหนึ่งก้าวกับ บาวดี้สแลม นะ อ๊ะ อ๊ะ อ๊ะ



บาวดี้สแลม เป็นชื่อวงดนตรีวงหนึ่งที่ผมดัดจริตตั้งใจเขียนให้ผิดเพี้ยน แต่คงเดาได้ไม่ยากว่าวงที่ผมกล่าวถึง ก็คือวงบอดี้สแลม เป็นหนึ่งวงมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเนื้อหา แนวดนตรี หรือไม่ว่าจะเป็นแนวทางของวง  เพราะเมื่อออก อัลบั้ม ชุดแรก  ออกมามีเพลงสุดฮิตอย่าง เพลง งมงาย ทำให้วงบอดี้สแลม เป็นหนึ่งวง ที่ถูกกล่าวหาว่า “ดังเพลงเดียว”

                จนนักร้องนำ ตูน บอดี้สแลม ถึงกับออกปากว่า ฟังกันทั้งอัลบั้มเถอะ ผมขอร้องงงง   555  และแล้วเวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์วงบอดี้สแลม เพราะหลังจากนั้น มีเพลง ฮิต ในอัลบั้มตามมาอีกมากมายไม่ว่า เพลง อากาศ ,  ย้ำ , ทางของฉัน ฝันของเธอ หรือเพลงสนุก ๆ ยอดฮิตอย่าง สักวันฉันจะดีพอ


                เพลงต่าง ๆ ที่โด่งดัง ในอัลบั้มแรกทำให้วงบอดี้สแลมไม่ใช่วงหน้าใหม่อีกต่อไป  จนถึงปัจจุบันจะกล่าวได้ว่าเป็นวงร๊อคอันดับหนึ่งของประเทศไทย ก็คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงไปนัก เพราะไม่ว่าจะขยับตัวไปทางไหน หยิบจับอะไร ก็เป็นที่สนใจได้ทั้งนั้น แม้แต่ยี่ห้อกางเกงยีนส์ที่นักร้องใส่ก็ยังเป็นที่ถามถึง และเป็นประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์ได้ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้คงเป็นแรงกดดันพอสมควร สำหรับวงบอดี้สแลม

                ถ้าเปรียบเป็นนักฟุตบอลที่ผ่านจุดสุดยอดมาแล้ว (ทางอาชีพนะครับ 555) ก็เป็นเรื่องยากที่จะหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการผลักดันตัวเองให้สูงขึ้นไป หรืออย่างน้อยก็สูงเท่าเดิม  ซึ่งผมเชื่อว่า ณ ขณะนี้ บอดี้สแลม ก็ตกอยู่ในสภาวะเช่นเดียวกัน


แต่ด้วยทีมเวิร์คที่แข็งแกร่งของบอดี้สแลมเอง ก็ทำให้บอดี้สแลม ออกผลงานออกอย่างต่อเนื่อง จนอัลบั้มนี่ก็เป็นอัลบั้มที่ห้าแล้ว หลังจากปล่อย Single ชิมลางออกมาก่อนล่วงหน้าที่อัลบั้มเต็มจะวางแผง ก็สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อย กับเพลง คราม  ที่ไม่ได้เล่าเรื่องราวแบบที่ผ่าน ๆ มา แต่เป็นแนวเชิงตั้งคำถาม  แต่ละคำมีความหมายและนำให้ไปขบคิดกันต่อ ทั้งแนวดนตรี ที่ผิดแปลกไปกว่าชุดก่อน ๆ ที่ส่วนผสมของเพลงนั้นเน้นไปที่ซาวด์แบบอิเล็กโทรนิคส์

                อีกหนึ่งเรื่องที่สร้างความฮือฮาได้ไม่แพ้เพลง  นั่นคือ  การ Featuring โดย เจ้าแม่หมอลำอย่าง  ศิริพร อำไพพงษ์ มาร่วมแจม ในเพลงคิดฮอด การนำ Riff ที่เป็นเอกลักษณ์ของเพลงหมอลำ มาเป็น Riff หลักในเพลง ก็เป็นอีกหนึ่งเพลงที่สร้างสีสรรให้กับอัลบั้มครามได้เป็นอย่างดี

ในอีกหนึ่งเพลง ที่มีการ Featuring นั่นคือเพลง ปล่อย โดย พี่ป๊อด โมเดิร์นด๊อก ขวัญใจเด็กแนวรุ่นใหญ่ ซึ่งการมาร่วมแจมของพี่ป๊อดครั้งนี้ ทำให้ผมเกิดความรู้สึก “เสียของ” เพราะในอัลบั้มชุดก่อนนั้น การร่วมแจมของน้าแอ๊ด คาราบาว ในเพลง ความเชื่อนั้น ทำได้ถูกที่ ถูกเวลา  เหมาะเจาะลงตัว แต่เมื่อเทียบกับพี่ป๊อดครั้งนี้ เกิดความรู้สึกว่า ใช้ความเป็นพี่ป๊อดได้ไม่เต็มที่ จะเรียกว่า ยังไม่ถูกที่ถูกเวลาก็น่าจะได้

               โดยส่วนตัวผมชอบ บอดี้สแลม ชุดนี้ ที่กล้าที่เปลี่ยน กล้าที่จะทดลองอะไรใหม่  ๆ และผมเชื่อว่าบอดี้สแลมก็สนุกไปกับมันด้วย   แต่ที่ขัดใจอยู่นิด ๆ คือ เนื้อเพลงที่ถูกยัดเยียดลงไปในเมโลดี้ ที่ฟังแล้วรู้สึกฝืน ๆ ในบางเพลง  แต่ก็ไม่ทำให้ อัลบั้ม คราม ลดความน่าสนใจลงไป

บอดี้สแลมชุดนี้ก็คงเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มแห่งปีอัลบั้ม ที่มีความหลากหลายทั้งแนวดนตรี อารมณ์  โดยเฉพาะเนื้อหาที่ผมคิดว่าเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มเพลงเพื่อชีวิตในสไตล์ของเขาเอง  ในสไตล์ บาวดี้สแลม

Gibson Lespaul หรือ Fender Stratocaster ???

Gibson Lespaul หรือ Fender Stratocaster
เป็นอีกหนึ่งปัญหาโลกแตกสำหรับมือกีต้าร์ เป็นปัญหาที่ทั้งโดนคนอื่นตั้งคำถาม และ มือกีต้าร์ส่วนใหญ่ก็ตั้งคำถามขึ้นมาเอง ถ้าอยากได้กีต้าร์สักตัว จะเป็นกีต้าร์ อะไรดี ? ระหว่าง Gibson LesPaul กับ Fender Stratocaster
อะไรดี ?
อะไรดี ?
อะไรดี ?
มือกีต้าร์ส่วนใหญ่คงหนักใจ พอ ๆ กับให้ เลือก ระหว่างโคโยตี้ กับพริตตี้ ยังไงยังงั้น ฮ่า ฮ่า



ระหว่าง Gibson LesPaul กับ Fender Stratocaster ต่างก็เป็นกีต้าร์ยอดนิยมด้วยกันทั้งคู่ หรือชาวกีต้าร์มักเรียกกันย่อ ๆ ว่า LP กับ Strat

ลักษณะ ทางด้านกายภาพ โดยความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว คิดว่าทาง Strat นั้น เอื้อต่อการเล่นอย่างต่อเนื่องมากกว่า ทั้งทางด้านส่วนเว้าส่วนโค้ง ที่รับกับการวางแขน และลำตัวของผู้เล่น ที่ Strat ทำให้ความรู้สึก "กระชับ" มากกว่า
รวมไปถึงทั้งน้ำหนักของตัวกีต้าร์ LP ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องขึ้นชื่อเรื่องของน้ำหนัก และด้วย 2 เหตุหลัก ๆ นี้ ทำให้ผมคิดว่า ทาง Strat นั้นมีลักษณะทางกายภาพน่าเล่นกว่า ทั้งการนั่งเล่น และ ยืนเล่น (อันนี้ความเห็นส่วนตัวแบบเอียง ๆ ฮ่า ฮ่า )



มาดู ที่ส่วนประกอบอื่น ๆ กันบ้าง LP ใช้หย่อง แบบ Fix Bridge แต่ในกีต้าร์ Strat ใช้แบบ Tremolo Bridge
ในส่วนนี้ ก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ มุมมองของมือกีต้าร์แต่ละท่าน

แบบ LP ก็ไม่ต้องวุ่นวายในการมาเซ็ตสปริงให้ลำบากใจ แต่ก็ใช้คันโยกไม่ได้ และก็ว่ากันว่า หย่องแบบนี้ ก็ให้ Sustian ที่ยาวกว่า
หรือ ท่านที่เคยสัมผัสคันโยกแบบ Strat อยู่ก็อาจจะบอกว่า ถึงมันโยกได้ แต่ถ้าโยกหนัก ๆ สายมันก็เพี้ยน ด้วยเหตุผลนี้ทำให้มือกีต้าร์ชาว Strat ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เสียบก้านคันโยกไว้กับตัวกีต้าร์

ประสบการณ์อีกอย่างที่ เกิดขึ้นกับตัวผู้เขียนเองโดยตรงคือ หย่องแบบ Strat นั้น เวลาสายขาดนั้นหมุดตรงปลายสายกีต้าร์นั้นไปติดอยู่ข้างในหย่องบ่อยครั้ง ซึ่งสร้างความหงุดหงิดพอสมควรในเวลาที่ต้องการเปลี่ยนสายแบบเร่งรีบ ซึ่งกับทางกีต้าร์ LP โดยส่วนตัวยังไม่เคยเจอ เพราะว่าตรงรูที่ยึดกับหมุดของสายกีต้าร์นั้นอยู่บนตัวกีต้าร์เลย

เลื่อนมาดูในตำแหน่ง Input Jack โดยส่วนตัวแล้วตำแหน่ง Input Jack ของ LP ให้ความรู้สึก "เกะกะ" เนื่องจากตำแหน่ง Input Jack นั้นเสี่ยงต่อการกระแทก โต๊ะ เก้าอี้ หรือแม้แต่กับ ขาตั้งกีต้าร์ ก็ตาม ถ้าให้ดีก็คงต้องหาหัวแจ๊กแบบงอ มาใช้กับกีต้าร์ LP ก็ลดปัญหานี้ไป แต่ความเห็นส่วนตัว (ล้วน ๆ) ความรู้สึก "เกะกะ" ก็ยังไม่หมดไป



มาดูที่ตัวกีต้าร์ ปุ่มปรับ ต่าง ๆ อยู่ในตำแหน่ง ที่แตกต่างกัน ที่เห็นหลัก ๆ คือตำแหน่งของ Volume
สำหรับ ใครที่ใช้เทคนิคด้าน Volume บ่อย ๆ Strat ออกแบบมาให้อยู่ใกล้มือมาก ๆ การวางตำแหน่ง Volume ในลักษณะนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดี ก็คือการเล่นโดยใช้ Volume เทคนิคอย่างมือกีต้าร์ อย่าง อิงวี่ หรือการคุมเสียงแตกจากปุ่ม Volume ที่ตัวกีต้าร์  การวางVolume ในตำแหน่งนี้ก็ดูเป็นข้อดี ของ Strat ที่สะดวก ต่อการปรับ Volume
ข้อ เสียคือ มือมักพลาดไปโดน Volume อยู่บ่อย ๆ จนมือกีต้าร์บางท่าน ถึงกับ โมดิฟาย ปุ่มปรับนี้ ให้อยู่ตำแหน่งที่ ตัวเองต้องการ เสียเลย อย่างเช่น พี่โอ้ โอฬารเป็นต้น จนในกีต้าร์ Squier Signature ของเขาก็ได้ปรับปุ่ม Volume ให้อยู่ในตำแหน่งที่แปลกไปจาก กีต้าร์ทรง Strat ทั่วไป



อีกหนึ่งเรื่องสำคัญ คือ เรื่อง Action นี่ก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลสำคัญในการ จะเลือกระหว่าง LP กับ Strat อันนี้เป็นความถนัดแต่ละบุคคลล้วน ๆ ไม่สามารถบอกกันได้ นอกจากลองด้วยตัวเอง แต่ LP อาจจะได้เปรียบเรื่องที่สามารถตั้ง Action ได้ต่ำกว่า !!!
มาพูดถึงในส่วนที่สำคัญที่สุดนั้นคือเรื่องของเสียง กีต้าร์ ทั้งสองรุ่นนั้นให้เสียงที่เหมาะกับการเล่นได้หลากหลายแนว
จุดเด่นของเสียงกีตาร์ LP ให้ เสียงนวล กลม หนาแน่น ซัสเทนยาว ๆ โทนหนา ๆ อุ่น ๆ เหมาะทั้ง Jazz Blues Rock
ซึ่ง คาแรกเตอร์ของ LP จะแตกต่างไปกับเสียง Strat ที่ให้เสียง ใส ๆ หวาน ๆ และเรื่องเสียงเฉพาะตัวที่เป็นที่ ถูกใจหลาย ๆ คนนั้นคือ เสียง Twang ทำให้ Strat อยู่ยงคงกระพันมาได้ถึงทุกวันนี้

ในเมื่อต่างฝ่าย ต่างดีคนละแบบ เป็นเรื่องหนักใจมาก ๆ เพราะแม้แต่ Eric Clapton เจ้าของ Strat ในตำนานอย่างอย่าง Blackie ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในบางครั้งก็อยากเปลี่ยนเป็น Gibson ในขณะที่ในมือก็ยังโซโล่กีต้าร์ Fender อยู่
และแน่นอนสำหรับมือกีต้าร์อย่างเรา ๆ ถ้าให้เลือกสักตัวคงเป็นที่หนักใจอย่างยิ่ง แต่ผมแนะนำว่า ถ้าตัดสินใจไม่ได้ ก็จัดไปเลย ทั้ง โคโยตี้ และ พริตตี้ !!!! ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า

เฮ้ย !!! นี่มันร็อคนี่หว่า



อะไรคือร๊อค !!!  สุดแท้แต่จะหาคำมานิยาม
แต่แน่นอน ร๊อค ไม่ได้เกิดจาก ไทยแลนด์แดนชุมนุม ของเราแน่นอน แต่ก็เป็นแนวดนตรีที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในบ้านเรา
 ถ้าให้พูดถึงวงการร๊อคของไทยแล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งซะเป็นส่วนใหญ่
และก็หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกที่จะโดนกล่าวหาว่า "เฮ้ย นี่มันลอกเค้ามานี่หว่า"

   
   เริ่มต้นเดิมที่ข้อกล่าวหานั้นคงมาจากการเอาดนตรีฝรั่งใส่เนื้อเพลงไทย จริงอยู่ว่าอาจจะเป็นเรื่องที่ใครหลาย ๆ คนบอกว่าน่ารังเกียจ ถึงกับมีคนเคยกล่าวว่า "ถ้าให้เล่นเพลงที่ลอกเค้ามา ผมยอมตายดีกว่า" เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์  แต่หลาย ๆ คนก็คงลืมนึกย้อนไปอีกว่า จริง ๆ แล้วในยุคสมัยหนึ่งของวงการเพลงไทย ก็เอาดนตรีฝรั่งมาใส่เนื้อร้องแบบไทย ๆ

   การลอกมาทั้งดุ้นแบบนี้ผมก็ยังมองว่าการใส่เนื้อเพลงไทย ๆ ไปในดนตรีฝรั่ง ก็ถือว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องใช้พรสวรรค์กันพอสมควร (ในยุคนั้นนะครับ)เพราะการเอาภาษาไทย ไปใส่ในเมโลดี้แบบฝรั่ง แล้วให้ออกมาฟังดูดี สละสลวยสวยเก๋ ผมว่าก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่าย ๆ (แต่ไม่ใช่ว่าสนับสนุนให้ทำแบบ "อีแอบ" นะครับ ในยุคนี้ถ้าจะทำกันจริง ๆ คงต้องขอลิขสิทธิ์และให้เครดิต อย่างถูกต้องเรียบร้อย)

  แต่ยุคสมัยที่การ "ลอก" กลายพันธุ์ไปเป็นการ   Referrence ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเป็นการเปลี่ยนแค่ชื่อหรือเปล่า แต่มันก็ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น ณ ปัจจุบันยังมีคำว่า Inspiration ให้เรา ๆ ทั้งหลาย มึนตึ้บกันไปตาม ๆ กัน

  เมื่อตอนเป็นนักเรียน ผมเชื่อว่าหลายคนคงมีประสบการณ์การลอก ทั้งนั้นไม่ว่า การบ้าน  รายงาน  ข้อสอบ  แต่ที่เป็นเรื่องแปลกแต่จริง คือ คนที่ลอกมักได้คะแนนดีกว่าคนที่ถูกลอก เป็นหนึ่งประสบการณ์ที่ทำให้ผม ลึกซึ้ง กับคำว่า Referrence มากขึ้น ฮ่า ฮ่า ฮ่า

   หรือเมื่อตอนที่ วงร๊อคไทย ๆ อย่าง โลโซ โด่งดังถึงขีดสุด ก็มีนักร้องอย่างเสก โลโซ ตามมาอีกมากมาย เพื่อนสนิทผมคนหนึ่งคือหนึ่งในนั้นที่โดนกระแส "โลโซ"พาไปด้วย ไม่ว่าจะเสื้อผ้า การแต่งตัว ทรงผม สำเนียงการร้อง สำเนียงการเล่นกีต้าร์ ท่าทางการร้อง  เป็นไปแบบ "โลโซ" แต่ด้วยความสนิทกันจึงรู้ว่า เพื่อนผมคนนี้ไม่ได้ตั้งใจที่จะเลียนแบบ แต่ด้วย"อิทธิพล"ต่างหาก ที่ทำให้พฤติกรรมของเขาออกมาเหมือน กับ เสก โลโซ นี่หรือเปล่า ที่เค้าว่ากันว่าเป็น Inspiration



จะด้วยความ "บังเอิญเหมือน" หรือ "ตั้งใจเหมือน" สิ่งเหล่านั้น ทำให้ร๊อคไทยมักโดนยกไปเปรียบเทียบกับร๊อคต่างชาติอยู่บ่อยครั้ง แค่เปรียบเทียบก็เจ็บช้ำน้ำใจพอแล้ว ยังมักโดนถากถาง เสมอ ๆ ว่าเป็นของเลียนแบบ  แต่เอาหล่ะผมก็ยังมองว่า ร๊อคแบบไทย ๆ นี่แหล่ะ ที่เข้าถึงคนไทยได้ดีที่สุด

เพราะถ้ายกมาเปรียบเทียบกัน จริง ๆก็คงไม่ต่างอะไรกับเอายามาฮ่า ฟีโน่ ไปเทียบกับมอเตอร์ไซค์ Big Bike
แต่รถอย่างฟีโน่นี่แหล่ะ ที่เหมาะกับสภาพถนน และ รูปร่างคนไทยอย่างเรา ๆ (ว่าไปนั่น 555)